ลงพื้นที่สัมภาษณ์และเก็บข้อมูล โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พนิดา พานิชกุล และอาจารย์ลัทธกาญจน์ กุยแก้ว
กลุ่มตัวอย่างชาติพันธุ์เผ่าลาว บ้านหว้าน ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ชุมชนชาวบ้านหว้านเดิมรวมอยู่กับบ้านน้ำคำ เป็นชาวบ้านของบ้านน้ำคำ แต่ภายหลังจากมีการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมาก มีการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว มีกลุ่มชุมชนกลุ่มหนึ่งแยกตัวออกจากบ้านน้ำคำ และตั้งชื่อหมู่บ้านตนเองว่า “บ้านหว้าน” เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านมีว่านชนิดนึงอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านนิยมนำว่านชนิดดังกล่าวมาทำเป็นยารักษาโรค เดิมอาณาเขตของบ้านหว้านเดิมครอบคลุมพื้นที่ของ “บ้านหัวนา” อยู่ด้วยแต่ชุมชนบ้านหัวนาได้แยกตัวออกมาเป็นหมู่บ้านหัวนาในปัจจุบัน (ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหว้าน, บทสัมภาษณ์: 2562) บ้านหว้านในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำคำ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ในบริเวณวัดพระธาตุสุพรรณหงส์เดิมมีสระน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้งมาตลอด 10 ปีไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใดก็ตาม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะพ่อปู่นาคาดูแล สมัยนั้นยังไม่มีน้ำประปา ชาวบ้านได้ใช้น้ำในสระแห่งนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงได้มีการก่อสร้างอุโบสถพระธาตุสุพรรณหงส์ขึ้นลอยอยู่กลางสระน้ำแห่งนี้ เพื่อเป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ ตัวพระอุโบสถกว้าง 5 เมตร ยาว 13.60 เมตร หลังคาทรงจัตุรมุข 3 ชั้น มียอดมณฑปกลางอุโบสถ
ประเพณีของเผ่าลาว มีการดำเนินชีวิตตามความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับผี ดังนั้น ตามประเพณีดั้งเดิมเมื่อชาวบ้านต้องการจะทำสิ่งใดจะต้องมีการบอกกล่าวผีสางก่อนเสมอ ประเพณีแรก คือ “การขึ้นผี” เป็นการบอกกล่าวบรรพบุรุษก่อนการรับลูกเขย/ลูกสะไภ้เข้าบ้าน บางครั้งเรียกว่าการบอกถิ่นบอกล่างหรือบอกบรรพบุรุษก่อน เพื่อแจ้งบรรพบุรุษว่าบ้านนี้จะมีการรับลูกเขย/ลูกสะไภ้เข้ามา ซึ่งในประเพณีขึ้นผี จะต้องมีของเซ่นไหว้ เช่น ซิ่นผืน แพรวา เงิน ไก่ต้ม ข้าวสาร เป็นต้น ประเพณีถัดมา คือ “ปักเข่าแฮก (เลี้ยงปู่ตา)“ เป็นการบอกกล่าวบรรพบุรุษก่อนการทำไร่ทำนา หากบ้านใดดำนาก่อนการพิธีแฮกนาบ้านนั้นจะต้องถูกไหม (ปรับเงิน) โดยในขณะปักข้าวแฮกแต่ละต้น ผู้อาวุโสของบ้านจะมีคำบอกกล่าวหรือถามไถ่ทีละต้นจนครบ จากนั้นในตอนเย็นจะมีการเลี้ยงผีตาแฮก เนื่องจากมีความเชื่อว่าในไร่นาของเราจะมีผีคุ้มครอง จากนั้นเมื่อหมดฤดูทำไร่ทำนา ชาวบ้านจะต้องทำพิธีบอกกล่าวว่าการทำไร่ทำนาที่ผ่านมาบัดนี้เสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ เผ่าลาวยังมีประเพณี “ฮีตสิบสองครองสิบสี่” เช่นเดียวกับวัฒนธรรมลาวในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งก็คือประเพณีที่จัดทำขึ้นในแต่ละเดือน สำหรับพิธี “สู่ขวัญข้าว/จ้ำข้าว” คือ พิธีฉลองเล้าใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล ต้องมีเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ บายศรี เหล้าไห ไก่ต้ม พิธีสู่ขวัญข้าวมักจัดขึ้นในเดือนสามของไทยในครั้งแรกของการสร้างเล้าใหม่จะเรียกว่า “สู่ขวัญข้าว” สำหรับในปีถัดไปจะทำพิธีเหมือนสู่ขวัญข้าวแต่ไม่ต้องจัดใหญ่เรียกว่า “จ้ำข้าว” (ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหว้าน, บทสัมภาษณ์: 2562)
คุณยายผัน (บทสัมภาษณ์: 2562) ผู้อาวุโสของบ้านหว้าน ได้อธิบายถึงการแต่งกายเผ่าลาวบ้านหว้านในอดีตจำแนกเป็นหญิงและชาย ดังนี้
เพศ | เสื้อ | สไบ/ผ้าขาวม้า | ผ้าซิ่น/สโร่ง/กางเกง |
---|---|---|---|
หญิง | เสื้อแขนกระบอกยาวสี่ส่วนทอจากผ้าฝ้ายสีดำย้อมด้วยมะเกลือ ปัจจุบันนิยมสวมเสื้อเป็นสีสดใส โดยเฉพาะสีฟ้า การทอไหมหรือฝ้ายเป็นผ้าผืนจะทอลายขิดธรรมดา ไม่มีลายลูกแก้ว | ทอจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ในอดีตผ้าสไบเผ้าลาวบ้านหว้านจะทอลายขิดธรรมดาสีดำ (ย้อมมะเกลือ) ปัจจุบัน สีที่นิยมทอ มีสีแดง หรือสีฟ้า บนสไบหนึ่งผืนจะทอลายขิด 2-3 ลายในแต่ละช่วงของผืนผ้าสไบ ได้แก่ ลายดอกแก้ว ลายสาม และลายที่ใช้เป็นหลักเหยียบ | ซิ่นทิว (สีแดง)” และ “ซิ่นไหมเข็น (สีเขียว)/ซิ่นคั่นเขียว ในอดีตมีตีนซิ่นขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตรเพียงส่วนเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการต่อตีนซิ่นขนาดสูงประมาณ 5 เซนติเมตร |
ชาย | สวมเสื้อม่อฮ่อมทอจากผ้าฝ้าย คอกลม แขนสั้น มีกระเป๋าด้านหน้า | ทอจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไมด้วยการทอลายเส้นแนวนอนคาดด้วยเส้นแนวตั้งกลายเป็นลายตารางเช่นเดียวกับผ้าขาวม้าเผ่าอื่น ในอดีตนิยมทอจากผ้าฝ้ายยกเว้นหากบ้านใดเลี้ยงหม่อนไหมจะทอจากผ้าไหมเพื่อใช้สวมใส่เวลาออกงาน | โสร่ง เรียกว่า “ผ้าแพรปลาไหล” ทอจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมเป็นลายธรรมดา สลับสีส้ม น้ำตาล แดง โดยจะทอเส้นสีในแนวเดียว ไม่มีแนวขวางตัดเป็นตารางเหมือนเผ่าอื่น กางเกง เป็นกางเกงขากว้าง ทอจากผ้าฝ้าย สวมใส่สบาย สวมใส่เมื่อต้องทำไร่ทำนา ผู้ชายจะนิยมสวมสลับกับผ้าโสร่ง |