ลงพื้นที่สัมภาษณ์และเก็บข้อมูล โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พนิดา พานิชกุล และอาจารย์ลัทธกาญจน์ กุยแก้ว
กลุ่มตัวอย่างชาติพันธุ์เผ่าเยอ บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ จากการสัมภาษณ์ประธานกลุ่ม กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์เยออพยพมาจากลาว มีผู้นำเป็นสองพี่น้องที่เป็นแกนนำในการอพยพ นั่นคือ พระยาไกร และพระยากตศิลา แต่เมื่อมาถึงปากน้ำห้วยสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ สองพี่น้องได้ตกลงแยกทางกันหาพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน คือ เยอบก กับ เยอน้ำ กล่าวคือ เยอบก นำโดยพระยาไกรนำชาวบ้านไปตั้งเมืองใหม่ที่เป็นตำบลโพนค้อ ตำบลทุ่ม อำเภอเมือง และอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน ส่วนเยอน้ำ นำโดยพระยากตศิลาไปตั้งเมืองใหม่ที่อำเภอราษีไศล (ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านปราสาทเยอ, บทสัมภาษณ์: 2562)
ประเพณีของชนเผ่าเยอ ได้แก่ รำชะเอง หรือบางคนเรียกว่า รำชะนาง คล้ายกับรำผีฟ้า ซึ่งเป็นการรำเพื่อปัดเป่าความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีประเพณีบุญข้าวสากจัดขึ้นในเดือนสิบ ซึ่งเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ประเพณีออกปู่ตา ซึ่งก็คือการเซ่นไหว้ปู่ตา และประเพณีไหว้หลวงปู่มุม ซึ่งเป็นพระสงฆ์เกจิอาจารย์ที่ชุมชนบ้านปราสาทเยอเคารพนับถือ (ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านปราสาทเยอ, บทสัมภาษณ์: 2562)
หัวหน้ากลุ่มทอผ้าบ้านปราสาทเยอ (บทสัมภาษณ์: 2562) ได้อธิบายการแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองของชาติพันธุ์เยอ (ส่วย) บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จำแนกเป็นหญิงและชาย ดังนี้
เพศ | เสื้อ | สไบ/ผ้าขาวม้า | ผ้าซิ่น/สโร่ง/กางเกง |
---|---|---|---|
หญิง | ทอจากผ้าไหมลายลูกแก้วยกดอกย้อมมะเกลือไม่อัดกาว ทรงตรง แขนกระบอก เป็นคอกลมธรรมดา มีกระเป๋าเสื้อ ในอดีตเสื้อผู้หญิงนิยมประดับด้วยกระดุมเม็ดเงินแท้เย็บต่อกับผ้าด้วยด้ายสีแดง | ทอจากผ้าไหมลายลูกแก้วสีดำย้อมมะเกลือ มีการถักชายผ้าสไบด้วยด้ายหลากสีสันสดใส | ทอจากผ้าไหมพันธุ์พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ย้อมเป็นสีเขียว เขียวแดง ม่วง ทอเป็นลายหางกระรอก ผ้าซิ่น 1 ผืน ต้องมีส่วนประกอบมาต่อกันทั้งหมด 5 ชิ้น ได้แก่ หัวซิ่น 2 ชิ้น ตัวผืน 1 ชิ้น และตีนซิ่น 2 ชิ้น โดยหัวซิ่นและตีนซิ่นจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ มี 2 ชิ้น เย็บติดกัน ได้แก่ ชิ้นกว้าง 10 เซนติเมตร และกว้าง 2 เซนติเมตร (เรียกว่าแถบ) โดยชิ้นกว้าง 10 เซนติเมตร นิยมทอด้วยลายขอ และเย็บต่อด้วยเส้นแถบ |
ชาย | เป็นผ้าไหมลายลูกแก้วสีดำย้อมมะเกลือ แขนยาว คอกลม ทรงตรง ประดับด้วยกระดุมเม็ดเงินแท้ | ในอดีตผ้าขาวม้าจะทอจากผ้าไหมพันธุ์พื้นบ้าน ไม่ยกดอก แต่ปัจจุบันนิยมใช้ผ้าฝ้ายมาทอเป็นผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้าที่ทอขึ้นใช้งานส่วนใหญ่เป็นลายตารางเช่นเดียวกับผ้าโสร่ง แต่ตารางจะมีขนาดเล็กกว่าผ้าโสร่ง มีหลายสีเช่นกัน | ทอจากผ้าไหมพันธุ์พื้นบ้าน ทอแบบธรรมดาไม่ยกดอก ทอเป็นลายตารางขนาดใหญ่คั่นตารางแต่ละแถวด้วยการใช้สีที่แตกต่างกัน ดังนั้นในระหว่างทอจึงต้องใช้ไหมหลายสีในหนึ่งผืน สีที่นิยมทอเป็นผ้าโสร่ง ได้แก่ สีเขียวอมเหลือง แดง น้ำตาล เป็นต้น ผ้าโสร่งสำหรับผู้ชายจะไม่มีหัวและตีนผ้า เนื่องจากเน้นความสะดวกในการใช้งาน |